เทคโนโลยีการชำระเงินแบบไม่สัมผัส
  2018-05-30 16:06:01  cri

หลายปีมานี้ คนจีนคุ้นเคยกับรูปสังคมไร้เงินสด ที่ตอนนี้กระเป๋าสตางค์กับ สมาร์ทโฟนกลายเป็นสิ่งเดียวกัน ทำให้คนจีนไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องพกกระเป๋าสตางค์ ล่าสุดนี้ กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของจีน ได้แก่ Tencent กับ Alibaba เริ่มปฏิวัติเทคโนโลยีการชำระเงินอีกครั้ง

นั่นก็คือ การชำระค่าทางด่วนรูปแบบใหม่ จากเดิมที่การเก็บค่าทางด่วนมีเจ้าหน้าที่เก็บเงินหรือรูดบัตรคนขับตรงทางเข้าทางออกทางด่วนซึ่งใช้มาเป็นหลายสิบปี มาเป็นเทคโนโลยีการชำระค่าผ่านทางแบบไม่สัมผัส

การชำระเงินแบบไม่สัมผัสคืออะไร?

ในส่วนของ Alibaba ที่ดำเนินการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ Alipay นั่นก็คือ การลงทะเบียนป้ายทะเบียนรถเป็นบัญชีชำระค่าทางด่วนของรถแต่ละคัน โดยคนขับรถที่ใช้บริการ Alipay ทุกคนจะมีเครดิตผ่านระบบของ Alipay โดยอัตโนมัติ และจะสะสมคะแนนส่วนตัวไว้ สำหรับลูกค้าที่มี 550 แต้ม ขึ้นไป ก็สามารถลิงค์ตัวเลขป้ายทะเบียนรถของตนเองกับบัญชี Alipay ส่วนตัว ทำให้ป้ายทะเบียนรถกลายเป็น barcode ชำระค่าทางด่วน

เมื่อขึ้นทางด่วนไม่ต้องรอคิวจ่ายค่าผ่านทาง เพราะมีกล้องถ่ายรูป ถ่ายภาพป้ายทะเบียนรถส่งเข้าระบบ เป็นการแจ้งให้ศูนย์รวมการเก็บค่าทางด่วนสายนี้ให้ทราบว่า รถคันนี้ขึ้นทางด่วนที่ไหนและเมื่อไหร่ ตอนขับลงทางด่วนก็ไม่ต้องเข้าด่านเพื่อเสียค่าทางด่วน เพราะทางลงทุกที่มีติดตั้งเครื่องสแกนป้ายทะเบียนรถ เวลาคุณขับรถผ่านเครื่องมันจะทำงานอัตโนมัติ โดย "สแกนป้ายทะเบียนรถ" ส่งสัญญาเข้าระบบ ระบบคอมพิวเตอร์ในศูนย์บริการทางด่วนก็จะคำนวณระยะทางที่รถคันนี้วิ่ง แล้วหักเงินในบัญชี Alipay ของคนขับ ดังนั้น คนขับไม่ต้องพกเงินสด ไม่ต้องจอดรถจ่ายค่าผ่านทางกับเจ้าหน้าที่ ทำให้แก้ปัญหาการจราจรบริเวณหน้าด่าน

สำหรับวิธีการเสียค่าผ่านทางของ Wechat ซึ่งนำเสนอโดยบริษัท Tencent ก็คล้ายกับของ Alipay ขอให้คนขับกรอกตัวเลขป้ายทะเบียนรถเข้าบัญชี Wechat ส่วนตัว และเปิดบริการชำระเงินโดยไม่ต้องใส่รหัสผ่าน เครือข่ายทางด่วนที่มีกล้องถ่ายกับเครื่องสแกนป้ายทะเบียนรถติดตั้ง ก็สามารถเก็บค่าทางด่วนตอนที่รถวิ่งลงจากทางด่วนได้สะดวก โดยหักจากบัญชี Wechat ของคนขับเช่นกัน

นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการทดลองเทคโนโลยีเก็บค่าทางด่วนแบบใหม่ของจีน และคิดว่าในเวลาไม่นานจะครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะคนจีนส่วนใหญ่คุ้นชินกับทั้ง Alipay และ Wechat อยู่แล้ว แม้แต่การไปเดินตลาดซื้อผักผลไม้ ก็ไม่ต้องพกเงินสด คนขายของในตลาดก็ชอบลูกค่าจ่ายสตางค์ด้วยบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ เพราะไม่ต้องทอนเงินลำบาก

ล่าสุด Alipay คัดเลือกมณฑลเหอหนานเป็นเป้าหมายแรกในการทดลองเทคโนโลยีการชำระค่าผ่านทาง แบบใหม่ ส่วน Wechat จับมือกับมณฑลซานตงในการเผยแพร่บริการรับจ่ายค่าผ่านทาง และอีกไม่นานคงจะขยายต่อไปในเขตพื้นที่อื่นๆ ของจีน เพื่อให้ได้รับความสะดวกสบายจากเทคโนโลยีนี้อีกด้วย

เทคโนโลยีการจ่ายค่าโดยสารผ่านสมาร์ทโฟน

เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมาที่เมืองหางโจว การประชุมสุดยอดว่าด้วยการเดินทาง และระบบขนส่งมวลชน 2018 แถลงข่าวว่า ระหว่างต้นปี 2016 จนถึงปลายปี 2017 ทั่วประเทศจีนมีกว่า 50 เมืองที่บรรลุเป้าหมายการสแกน QR Code ของ App Alipay เพื่อใช้จ่ายค่าบริการระบบขนส่งมวลชน ต่อไปในอนาคต เทคโนโลยีการประมวลผลแบบคลาวด์คอมพิวติ้ง(Cloud Computing) และการนำทางระบบ GPS ผ่านสมาร์ทโฟนจะถูกนำมารวมเข้าด้วยกัน เพื่อใช้กับระบบขนส่งมวลชนที่มีรถเมล์ รถไฟใต้ดินกับรถรางในเมือง

ปัญหาที่มักมาพร้อมกับเมืองที่มีขนาดใหญ่ นั่นคือปัญหารถติด การใช้บริการรถสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งรถไฟใต้ดินหรือรถเมล์นั้นจึงเป็นความต้องการมากที่สุด แต่ทำอย่างไรจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการได้มากที่สุด โดยมุ่งเน้นไปที่การจ่ายค่าโดยสารด้วยสมาร์ทโฟน ทำให้ได้ผลประโยชน์ทุกฝ่ายระหว่าง บริษัทผลิตสมาร์ทโฟนเจ้าใหญ่ และผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์อย่าง Wechat Alipay Unionpay และประชาชนผู้ใช้บริการ

เมืองกว่างโจวและหางโจวเป็น 2 เมืองแรก ที่เริ่มใช้สมาร์ทโฟนชำระค่าโดยสารรถไฟใต้ดินเป็นผลสำเร็จ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัท Apple ประกาศในแถลงการ iOS11.3 อย่างเป็นทางการ สนับสนุนให้คนปักกิ่ง และคนเซี่ยงไฮ้ใช้ไอโฟนจ่ายค่าโดยสารทั้งรถเมล์และรถไฟใต้ดิน โดยต่อไปจะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ไอโฟนของมณฑลเจียงซู เมืองเซินเจิ้น อู่ฮั่น และนครฉงชิงให้สแกนมือถือจ่ายค่าโดยสารได้

ในฐานะตัวแทนความเจริญของประเทศจีน นครเซี่ยงไฮ้ เริ่มใช้เทคโนโลยีสแกนสมาร์ทโฟนผ่านเข้าออกสถานีรถไฟใต้ดิน โดยให้ผู้ใช้ดาวน์โหลด App Metro ที่บริษัทรถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้วิจัยและผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับบัญชี Alipay และบัตรธนาคารที่มีสัญลักษณ์ Unionpay ของผู้โดยสาร เมื่อเข้าออกประตูสถานี ก็สามารถใช้ App สแกน QR Code ที่บริเวณเครื่องกั้นที่ประตูสถานี 

ล่าสุดนี้ เทคโนโลยีชำระค่าโดยสารผ่านมือถือในนครเซี่ยงไฮ้มีความก้าวหน้ามากขึ้น มีผู้สื่อข่าวไปลองใช้บริการแล้วพบว่า มีความสะดวกสบาย เพียงแค่เอามือถือ เปิดแอพลิเคชั่น ไปวางใกล้ๆ บริเวณสแกนของเครื่องกั้น ความเร็วจะเท่ากับการใช้บัตร ประตูเข้าออกสถานีรถไฟใต้ดินก็เปิดทันที จึงจะแก้ปัญหาผู้สารรอคิวเข้าออกในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนได้เป็นอย่างดี

นายจิน เทา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสารนิเทศ บริษัทรถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า บริการสแกน QR Code ของรถไฟใต้ดินนั้น เป็นผลงานความร่วมมือระหว่างบริษัทรถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้ Alipay กับ Unionpay ปัจจุบัน เครื่องกั้นประตูสถานีรถไฟใต้ดินในนครเซี่ยงไฮ้มี 40% ได้ทำการปรับปรุงเพื่อรองรับบริการนี้ ที่เหลือกอีก 60% จะปรับปรุงให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายนปีนี้ โดยบริษัทรถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้จะจ่ายค่าบริการให้กับ Alipay และ Unionpay

พูดถึง App Metro ในสมาร์ทโฟน นอกจากชำระค่าโดยสารแล้ว ยังเป็นแอพลิเคชั่นที่ใช้ เพื่อเช่าจักรยานสาธารณะที่มีผู้ใช้มากที่สุดในจีน 2 แบรนด์ ได้แก่ ofo กับ Mobike และมีบัญชี Wechat สาธารณะของบริษัทรถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้ ที่คอยนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านการเดินทางกับผู้โดยสาร ซึ่งสามารถเปิดอ่านนิตยสาร ELLE ฉบับอิเล็กทรอนิกส์ และเลือกดูวีดีโอสั้นที่มีเนื้อหาหลากหลาย

และยังเตรียมจะใส่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และห้างสรรพสินค้ายอดนิยมตามเส้นทางรถไฟใต้ดิน ทำให้ผู้โดยสารเพลิดเพลิน แม้จะต้องนั่งรถไฟใต้ดินเดินทางไกล แล้วเมื่อเดินออกจากสถานี ก็สามารถหาของกินอร่อย ที่เที่ยว และแหล่งชอปปิ้งกันอย่างสนุกสนาน

ในช่วงแรกของการใช้ QR Code นั่งรถไฟใต้ดิน บริษัทรถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้ Alipay และ Unionpay พยายามอย่างมาก เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกเคยชินกับการใช้บริการใหม่นี้ โดยทั้ง Alipay และ Unionpay ได้ออกโปรโมชั่นลดค่าโดยสาร หรือไม่เก็บค่าโดยสารสำหรับคนที่ใช้สมาร์ทโฟนจ่ายค่าโดยสาร โดยตามสถานีรถไฟใต้ดินต่างๆ ของนครเซี่ยงไฮ้ จะมีคำโฆษณาการสแกน QR Code ที่สะดุดตา และภาพการสอนผู้โดยสารใช้ App Metro ที่ทางเข้าทางออกของสถานีรถไฟใต้ดิน บางแห่ง มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครคอยแนะนำวิธีการสแกนสมาร์ทโฟนนั่งรถไฟใต้ดินแก่ผู้โดยสารอีกด้วย 

ปี 2017 ที่ผ่านมา ทั้งกรุงปักกิ่ง เมืองกว่างโจว อู่ฮั่น และหางโจวทยอยกันนำเสนอบริการจ่ายค่าบริการรถไฟใต้ดินผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งนอกจากไอโฟนแล้ว โทรศัพท์มือถือในระบบ Android กว่า 200 รุ่น ก็รองรับบริการนี้ ซึ่งต่อไปหน่วยงานบริหารระบบขนส่งมวลชนของเมืองดังกล่าว จะหารือเชื่อมต่อความร่วมมือระหว่างเมืองให้มากขึ้น ทำให้ในอนาคตคนจีนสามารถพกมือถือเครื่องเดียว ไม่ว่าอยู่ปักกิ่ง เซียงไฮ้ หางโจว หรือกว่างโจว ก็สามารถใช้สมาร์ทโฟนจ่ายค่าโดยสารไม่ว่าจะนั่งรถเมล์หรือรถไฟใต้ดิน

ความสะดวกสบายอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจจากบริการจ่ายค่าโดยสารผ่านสมาร์ทโฟนก็คือ การลดปัญหาการบริหารเงินสดของบริษัทที่ให้บริการขนส่งมวลชน โดยเฉพาะการนับเหรียญเงินและเศษเงินในแต่ละวัน ถือเป็นภาระที่หนักมากของพนักงานฝ่ายบัญชี

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040