แหลมฉบังเฟส 3—สัมภาษณ์ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง
  2018-09-06 13:39:01  cri

ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างสถานีวิทยุซีอาร์ไอ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอได้มีเดินทางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อเยี่ยมชมความคืบหน้าโครงการท่าเรือในเฟสที่ 3 ท่าเรือแห่งนี้ถือเป็นท่าเรือสำคัญในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ของไทย และโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน

เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ให้สัมภาษณ์กับซีอาร์ไอ ภาคภาษาไทย แนะนำสภาพทั่วไป และอนาคตของโครงการท่าเรือแหลมฉบัง โดยระบุว่า

"ในส่วนของท่าเรือแหลมฉบัง ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2530 แต่เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2534 ท่าเรือแหลมฉบังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีท่าเรือที่ต้องดูแลอยู่ 5 ท่าเรือด้วยกัน ประกอบไปด้วยท่าเรือกรุงเทพฯ เป็นท่าเรือแม่น้ำ ซึ่งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าเรือที่ 2 ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยดูแล คือ ท่าเรือแหลมฉบังก่อน ท่าเรือแหลมฉบังตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชุลบรี ท่าเรือเล็ก ๆ อีก 3 แห่งที่ดูแลประกอบด้วยท่าเรือระนองที่อยู่ที่จังหวัดระนอง ท่าเรือเชียงแสน และท่าเรือเชียงของ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย แล้วมีสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาทางตอนเหนือ ซึ่งผ่านแม่น้ำโขงที่จังหวัดเชียงราย

"เรามาดูว่า ท่าเรือแหลมฉบังได้มีการพัฒนาอะไรไปแล้วบ้างในปัจจุบัน โดยวิสัยทัศน์ของท่าเรือแหลมฉบังก็คือ พวกเราจะเป็นท่าเรือระดับโลกที่ให้บริการด้านโลจิสติกอย่างยั่งยืนภายในปี 2530

"โครงสร้างของการท่าเรือแห่งประเทศไทย พวกเราก็จะมีบอร์ดการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้ควบคุมจำกัดในเรื่องนโยบาย ก็จะมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ควบคุมจำกัดในเรื่องการดำเนินนโยบายของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยการท่าเรือจะอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงคมนาคม

"ในส่วนของท่าเรือแหลมฉบังเอง เรามาดูกันว่า ท่าเรือแหลมฉบังมีอะไรบ้างอยู่ในตัวของเขา ในวันนี้ ท่าเรือฯ มีการก่อสร้างไปแล้ว 2 ระยะด้วยกัน ท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 1 มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่ารวมทั้งแอ่งอยู่ที่ประมาน 4.3 ล้านตู้ เปิดให้ดำเนินการปี 1991 ในส่วนของระยะที่ 2 ก็จะมีท่าเรือที่เป็นท่าเรือตู้สินค้าที่เปิดให้บริการเพิ่มเติมเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2001 โดยปริมาณสินค้าที่ขนส่งที่ท่าเรือฯ เกือบ 100% เป็นตู้คอนเทนเนอร์ ตู้คอนเทนเนอร์ที่เห็นวิ่งกันบนถนนในประเทศไทยประมาณ 80% ขึ้นไปก็จะส่งมาที่ท่าเรือแหลมฉบัง มี 10% ส่งไปที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ที่เหลืออยู่สักไม่ถึง 10% ก็จะไปท่าเรือที่เป็นท่าเรือเอกชนต่าง ๆ

"ในอนาคต เราก็จะมีท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกบรรจุอยู่ในโครงการของอีอีซีด้วย ท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 ถือว่าเป็น 1 ใน 5 โครงการของอีอีซีที่ถือว่าเป็นโครงการหลัก และก็จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาในเรื่องของเศรษฐกิจ ถ้าเรามองในอดีต ก็จะพบว่า ตั้งแต่ปี 2530 กว่าๆ เป็นต้นมา ที่เรามีโครงการ Eastern Sea Board Development Program (โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ ESB) เป็นต้นมา หลังจากนั้น พวกเราแทบไม่มีโครงการอะไรใหญ่ ๆ เกิดขึ้นเลยในประเทศไทย ดังนั้น โครงการท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 ก็จะเป็นโครงการที่ถือว่า เป็นโครงการที่ต่อยอดจากโครงการ ESB นั่นเอง เพื่อให้การนำเข้าส่งออกของสินค้าภายในประเทศไทยมีการเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากวันนี้พวกเราพบว่า เศรษฐกิจโลกดีขึ้นแล้ว มีอัตราการเจริญเติบโต 2 - 3% ทั่วโลก ส่วนประเทศไทยก็มีอัตราการโตของจีดีพีอยู่ประมาณ 3% เท่าที่ผ่านมาของท่าเรือแหลมฉบัง ในปีที่แล้ว อัตราการเติบโตของตู้สินค้าอยู่ที่ 8% จากที่พวกเราบริหารงานและทำงานมา 26 ปี ไม่มีปีไหนเลยที่ตู้สินค้าลดลง พวกเราโตขึ้นมาโดยตลอด อัตราเติบโตอาจจะมากขึ้นหรือน้อยลงเท่านั้นเอง แต่โตทุกปี ไม่มีปีไหน ปริมาณตู้สินค้าหรือปริมาณสินค้าที่ผ่านท่าเรือแหลมฉบังจะลดลง ในส่วนของโครงการต่าง ๆ ที่พวกเรามี ไม่ว่าจะเป็นโครงการท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 1 ระยะที่ 2 หรือระยะที่ 3 พวกเราก็ได้เตรียมการไว้เพื่อที่จะรองรับกับปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้น และขนาดของเรือที่ใหญ่ขึ้น ในโลกปัจจุบัน เราพบว่า ขนาดของเรือจะใหญ่ขึ้น จากสถิติที่ผ่านมา ในแต่ละปี มีเรือผ่านเข้าออกที่ท่าเรือแหลมฉบังประมาณ 8,000 ลำต่อปี ในบางปีเป็นหมื่นลำต่อปี แต่ปัจจุบันเราพบว่า 8,000 ลำ และหมื่นลำที่ว่านี้ ลดลงเหลือเกือบ ๆ 8,000 จำนวนเรือลดลง แต่ปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งบอกเหตุว่า ขนาดของเรือใหญ่ขึ้น มีการรวบรวมสินค้ามากขึ้น เพื่อให้สามารถใช้เรือใหญ่ขึ้นสามารถทำงานขนส่งได้ เพื่อทำให้เกิดความคุ้มค่าในเรื่องของการขนส่ง ซึ่งก็คือ มีการรวบรวมตู้สินค้ามากขึ้นและส่งกับเรือที่ลำใหญ่ขึ้น ดังนั้น ในระยะที่ 3 พวกเราก็จะพยายามทำให้เรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเข้าเทียบท่าได้ ปัจจุบันนี้ ที่มีการต่อเรือลำนี้ไปแล้ว พวกเราไปเช็คดูแล้ว ปรากฏว่า เรือขนส่งตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน มีความยาว 398 เมตร ประมาณ 4 สนามฟุตบอล ขนตู้ได้มาสัก 28,000 ตู้ ซึ่งในวันนี้ ท่าเรือใหญ่ ๆ ทั่วโลกต่างสามารถที่จะรับเรือต่าง ๆ นี้ได้ อย่างท่าเรือที่สิงคโปร์ก็ได้สร้างท่าเรือเพื่อที่จะรองรับเรือขนาดนี้ อัตราการกินน้ำลึกจะต้องลึกขึ้น ตอนที่เราพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 1 เรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เข้าออกได้กินน้ำลึกประมาณ 12 เมตร ตอนที่เราพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 2 เราพบว่า เรือก็ใหญ่ขึ้นอีก พวกเราจึงขุดให้มันมีความลึกในการที่จะรองรับเรือเข้าได้ประมาณ 16 เมตร และพอถึงระยะที่ 3 เรือก็ใหญ่ขึ้นอีก เราก็ได้ขุดเพื่อให้ได้ร่องน้ำที่จะนำเรือเข้าถึง 18.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อให้เรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดสามารถที่จะเข้าได้ เป็นทางเลือกให้เขา เพราะการที่เราสร้างท่าเรือที่มีขนาดใหญ่ นั่นหมายความว่า ขนาดเล็กกว่านั้นเข้าได้หมด เพราะฉะนั้น การที่เราสร้างให้มีขนาดใหญ่ไว้ไม่ได้หมายความว่า เราจะรับเรือขนาดใหญ่อย่างเดียว ก็สามารถรองรับเรือได้ทุกประเภทเลยทีเดียว นั่นก็คือท่าเรือแหลมฉบังจะดำเนินการในอนาคตต่อไป"

Tim/Ldan

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040